วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

22.ปัจจัยส่งเสริมการสร้างภูมิปัญญาไทย

22.ปัจจัยส่งเสริมการสร้างภูมิปัญญาไทย
ปัจจัยพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทย
     ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการใช้ความรู้  ความคิด  และทักษะการปฏิบัติเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเองและชุมชน  จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้สมดุลกับการพัฒนาทางสังคมอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง  ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา  พอสรุปได้  ดังนี้

     1.  การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่เกิดจากการดำรงชีวิต
          คนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ มีวิถีการดำรงชีวิต  ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน  แต่ก็ล้วนมีความผูกพันและพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ  เรียนรู้จากธรรมาชาติ  ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน  และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
          ปัญหาด้านต่าง ๆ ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องปรับตัว  และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาเพื่อความอยู่รอด  และอยู่อย่างมีความสุข  สะดวกสบาย  รวมทั้งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  โดยคิดประดิษฐ์หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์  เช่น  การนำพืชพรรณธรรมชาติมาปรุงเป็นอาหาร  ทำยารักษาโรค  การนำเส้นใยจากพืช  เช่น  ปอ  ฝ้าย  ป่าน  มาประดิษฐ์เป็นเสื้อผ้า  กระเป๋า  และยังประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่  การทำเครื่องมือดักจับสัตว์ป่า  สัตว์น้ำ  เครื่องมือทุ่นแรงในการทำไร่ทำนา  การปลูกพืช  และการหาของป่า  เป็นต้น

     2.  การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่เกิดจากความเชื่อและศาสนา
          คนไทยมีความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องของการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ  เช่น  ผีบ้านผีเรือน  ผีฟ้า  เจ้าป่า  เจ้าเขา  เจ้าที่  เจ้าทาง  เทวดา  แม่โพสพ  แม่คงคา  พระภูมิ  ต้นไม้ใหญ่ ๆ  เช่น  ต้นโพธิ์  ต้นไทร  เป็นต้น  ซึ่งเชื่อว่ามีเทวดาหรือนางไม้พักอาศัยอยู่  ถ้าใครไปตัดต้นไม้ใหญ่  หรือทำสกปรกรอบ ๆ บริเวณนั้น  อาจถูกลงโทษถึงแก่ชีวิตได้  นับได้ว่าเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยทางอ้อมอย่างหนึ่ง
          อนึ่ง  คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา  จึงนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  เช่น  การไม่ทำความชั่ว  การทำความดี  และการทำจิตใจให้ผ่องใส
          ภูมิปัญญาที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา  เช่น
          -  การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์  ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ  ชาดก  สวรรค์  นรก  เป็นต้น
          -  การสร้างประติมากรรม  เช่น  พระพุทธรูป
          -  การสร้างสถาปัตยกรรม  เช่น  โบสถ์  เจดีย์ตามยุคสมัยต่าง ๆ
          -  การแสดงออกของศิลปิน  เช่น  การแต่งคำประพันธ์  บทเพลง  การแสดงละคร  ลิเก  ลำตัด  ที่นำหลักคำสอนหรือชาดกมาสร้างเป็บบทประพันธ์  โดยสมมุติตัวละครให้แสดงออกทั้งทางด้านผลของกรรมดีและกรรมชั่ว

     3.  การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
          ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย  ทำให้มีการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน  เช่น
          -  บริเวณภาคกลางของประเทศเป็นที่ราบลุ่ม  มีแม่น้ำลำคลองหลายสาย  บางพื้นที่มีน้ำท่วมในฤดูฝน  ทำให้มีการแก้ปัญหาด้วยการสร้างบ้านเรือนที่ยกพื้นสูงขึ้น  เพื่อป้องกันน้ำท่วม  ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำก็จะสร้างเรือนแพ  หรือต่อเรือไว้เป็นพาหนะในการเดินทาง
          -  บริเวณทางภาคเหนือเป็นเทือกเขา  มีที่ราบระหว่างหุบเขาที่แม่น้ำไหลผ่าน  ทำให้เกิดภูมิปัญญาในการสร้างฝาย  เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ราบ  มีการปลูกพืชตามไหล่เขาแบบขั้นบันได  ซึ่งทำให้สามารถรักษาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไว้ได้ในขณะที่มีฝนตก  นับว่าเป็นการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาดและคุ้มค่า  เพราะสามารถใช้ที่ดินได้ทุกพื้นที่  ไม่เพียงแต่ที่ราบเท่านั้น

     4.  การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยที่เกิดจากอิทธิพลภายนอก
          การที่ประเทศไทยมีสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ทั้งด้านการเมืองการปกครอง  ด้านเศรษฐกิจ  เช่น  มีการติดต่อค้าขาย  การร่วมลงทุนหรือร่วมส่งเสริมกิจกรรมทางด้านต่าง ๆ ทำให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรม  มีการผสมผสานวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งในปัจจุบัน  การติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
          ความรู้ด้านวิชาการ  วัฒนธรรมและรูปแบบของการดำเนินชีวิตจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก  หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว  ทำให้มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยให้เหมาะสมกับยุคสมัย  เช่น
          -  การใช้เครื่องทุ่นแรงมาใช้ในการเกษตร  เช่น  การใช้รถไถแทนการใช้ความไถนา  การใช้เครื่องมือนวดข้าวแทนการนวดด้วยมือ  การใช้เครื่องแยกเมล็ดฝ้ายแทนการแยกด้วยมือ
          -  การนำเครื่องยนต์มาติดตั้งกับพาหนะ  เช่น  การใช้เรือยนต์แทนเรือพาย  การใช้รถสามล้อเครื่องแทนรถสามล้อถีบ
          -  การใช้เครื่องไฟฟ้าเข้ามาประกอบอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน  ได้แก่  การใช้กระเช้าไฟฟ้ารับส่งคนและของขึ้นลงในที่สูง
          -  การแปรรูปผลิตภัณฑ์  เช่น  ฟ้าทะลายโจรอัดใส่แคปซูลใช้รักษาโรคได้  ยาสระผมว่านห่างจระเข้ผสมดอกอัญชัย  ครีมนวดผมที่ทำจากประดำดีควาย  สบู่สมุนไพร  เครื่องดื่มที่ทำจากสมุนไพร  เป็นต้น

     5.  การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาโดยอาศัยประสบการณ์  เช่น
          -  หมั่นศึกษาแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  โดยเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ
          -  ลงมือทดลองความรู้ตามที่เรียนมา  และสอบถามปรึกษาผู้รู้
          -  ลงมือทำงาน  และผลิตผลงานอยู่เสมอ  ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้น  อีกทั้งมุ่งทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง  จนเกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม  สามารถถ่ายทอดความรู้ได้
          จึงสังเกตได้ว่า  ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นมานั้น  มักจะมีเหตุปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติ  และสภาพสังคมความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสมัยนั้น ๆ รวมทั้งการติดต่อสื่อสาร  ผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในยุคสมัยนั้น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแก้ปัญหาชีวิตที่เหมาะสมนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น